ปลอดคอรัปชั่น! 50.9% คนรุ่นใหม่ อยากเห็นการเมืองไทยเปลี่ยนแปลง วันอังคาร ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2566

50.9% คนรุ่นใหม่อยากให้การเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลง เน้นไม่มีการคอรัปชั่น 25.5% อยากได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมือง นายกรัฐมนตรี มีความซื่อสัตย์โปร่งใส

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความคาดหวังในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนอายุ 18 – 30 ปีที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,113 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 25 มกราคม – 30 มกราคม 2566 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องความคาดหวังในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยเน้นในกลุ่มของคนรุ่นใหม่ที่อายุ 18 – 30 ปี ในกลุ่มนี้จะมีผู้ที่จะเป็นผู้ที่ไม่เคยผ่านการเลือกตั้งมาก่อนและผู้ที่เคยผ่านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ในปี 2566 จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากการที่สภาผู้แทนราษฎรครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา102 กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ ร่างแผนการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดว่า วันที่ 30 มีนาคม 2566 จะเป็นวันสุดท้ายที่คาดว่าพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ และวันที่ 31 มีนาคม เป็นวันที่ กกต.ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งและประกาศกำหนดวันรับสมัคร ก่อนเปิดให้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ยื่นใบสมัครเป็นเวลา 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 3-7 เมษายน 2566 กำหนดให้วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 โดยมีสาระสำคัญคือ การแก้ไขตามรัฐธรรมนูญปี 2560 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีจำนวน 500 คน โดยเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน รวมถึงการกำหนดใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ประชาชนมีความคิดเห็นในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีคุณสมบัติแบบใด เลือกพรรคการเมืองจากปัจจัยใด และอยากให้การเมืองไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะใด ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อความคาดหวังในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ อยากได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีคุณสมบัติแบบ มีความซื่อสัตย์โปร่งใส มากที่สุด ร้อยละ 22.5 อันดับที่สองคือ มีการปฏิบัติงานให้เห็นเป็นรูปธรรม ร้อยละ 19.8 อันดับที่สามคือ มีความเสียสละทำงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 17.2 อันดับที่สี่คือ มีความขยันทุ่มเทในการทำงาน ร้อยละ 10.6 และอันดับที่ห้าคือ มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม ร้อยละ 10.5

หากต้องไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะตัดสินใจเลือก ผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 29.8 อันดับที่สองคือ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่และทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 20.2 อันดับที่สามคือ ผู้ที่มีความเสียสละเพื่อสังคม ทำงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 27.8 อันดับที่สี่คือ ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีประวัติการศึกษาและการทำงานอย่างมากมาย ร้อยละ 14.9 และอันดับที่ห้าคือ ผู้ที่เป็นลูกหลาน ตระกูลนักการเมือง ร้อยละ 3 และหากมีการเลือกตั้งคิดว่าจะเลือกพรรคการเมืองจากพรรคการเมืองที่มีความซื่อสัตย์สุจริต มากที่สุด ร้อยละ 38 อันดับที่สองคือ พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ชัดเจน ร้อยละ 24.3 อันดับที่สามคือ พรรคการเมืองที่มีภาพตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ร้อยละ 15.1 อันดับที่สี่คือ พรรคการเมืองที่มีนโยบายที่น่าสนใจ ร้อยละ 11.5 และอันดับที่ห้าคือ พรรคการเมืองที่เคยมีผลงานในอดีต ร้อยละ 6.1

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าบุคคลที่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีคุณสมบัติที่มีความซื่อสัตย์โปร่งใส มากที่สุด ร้อยละ 29.2 อันดับที่สองคือ มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม ร้อยละ 16.6 อันดับที่สามคือ มีการปฏิบัติงานให้เห็นเป็นรูปธรรม ร้อยละ 13.5 อันดับที่สี่คือ มีความเสียสละทำงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 11.8 และอันดับที่ห้าคือ มีการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ร้อยละ 11.4

โดยทราบว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่ทำอะไร ร้อยละ 63.8 และคิดว่าจะไปเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2566 ร้อยละ 76.5คิดว่าปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งครั้งนี้คือตัวผู้สมัคร มากที่สุด ร้อยละ 59.6 รองลงมาคือ พรรคการเมืองที่สังกัด ร้อยละ 28.6 และลำดับสุดท้ายคือ  การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 11.8

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่านโยบายที่อยากให้พรรคการเมืองให้ความสำคัญมากที่สุด อันดับที่หนึ่งคือ ด้านเศรษฐกิจและการส่งเสริมอาชีพ ร้อยละ 33.6 อันดับที่สองคือ ด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิต ร้อยละ 24.5 อันดับที่สามคือ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 18.8 อันดับที่สี่คือ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 9.2 และอันดับที่ห้าคือ ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 6.9

โดยคิดว่าในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2566 การเมืองไทยจะมีการเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 50.9 และอยากให้การเมืองไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะ ไม่มีการคอรัปชั่น มากที่สุด ร้อยละ 25.5 อันดับที่สองคือ มีการทำงานแบบจริงจังเพื่อประชาชน ร้อยละ 23 อันดับที่สามคือ มีนโยบายที่สามารถทำได้จริง ร้อยละ 19.1 อันดับที่สี่คือ ไม่มีการหวังผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ร้อยละ 14.9 และอันดับที่ห้าคือ มีการแต่งตั้งบุคคลที่เหมาะสมกับงาน ร้อยละ 8.2